“เปิดร้านอาหารจำเป็นต้องใช้หลายแพลตฟอร์มเดลิเวอรีจริงหรอ?” คำถามนี้คงเป็นคำถามสำคัญที่คนอยากเปิดธุรกิจร้านอาหารในยุคนี้สงสัยและอยากจะหาคำตอบที่แท้จริงให้ได้
แต่แน่นอนว่าคงไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่ไหนกล้าฟันธงได้อย่างเต็มปากว่า ต้องเข้าร่วมกี่แพลตฟอร์ม และต้องเข้าร่วมอะไรบ้าง เพราะรูปแบบธุรกิจร้านอาหารเองก็มีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น คาเฟ่ ร้านอาหารตามสั่ง บุฟเฟ่ต์ หรือแม้แต่รูปแบบร้านอาหารที่มีแต่เดลิเวอรีไม่มีหน้าร้านเลย
แล้วอะไรคือ “แกนสำคัญ” ที่จะช่วยให้ร้านอาหารสามารถพิจารณาได้ว่า ธุรกิจร้านอาหารของเรานั้นควรเข้าร่วมเดลิเวอรีกี่เจ้ากันแน่?
วันนี้เรามาทำเช็กลิสต์แกนสำคัญ เพื่อตอบคำถามที่ว่า “เปิดร้านอาหารจำเป็นต้องใช้หลายแพลตฟอร์มเดลิเวอรีจริงหรอ?” กัน
1. ทำความรู้จัก “รูปแบบธุรกิจ” ของคุณเอง

จุดสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ การกลับมาตั้งต้นทำความรู้จักกับรูปแบบธุรกิจร้านอาหารของตัวเองเป็นอันดับแรก
- ธุรกิจร้านอาหารของคุณเป็นรูปแบบไหน เช่น คาเฟ่เน้นสร้างประสบการณ์หน้าร้าน หรือร้านอาหารตามสั่ง ปรับตัวได้ทั้งหน้าร้านและเดลิเวอรี
- เหมาะกับการทำธุรกิจเดลิเวอรีมากน้อยแค่ไหน เช่น เป็นธุรกิจร้านอาหารที่ต้องผลิตวันต่อวัน ต้องระมัดระวังเรื่องการจัดส่ง เช่น เค้กที่ต้องตกแต่งสวยงาม ปรับเข้ากับเดลิเวอรียากกว่าธุรกิจรูปแบบอื่น
- พิจารณาบริบทแวดล้อม ณ ขณะนั้น เหตุผลที่เราต้องเข้าร่วมเดลิเวอรีเป็นเพราะรูปแบบธุรกิจ หรือเป็นเพราะบริบทแวดล้อมเป็นใจให้เป็นแบบนั้น เช่น การเกิดวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น
เมื่อตอบคำถามทั้งสามข้อข้างต้นได้แล้ว และคุณเป็นคนหนึ่งที่ ไม่ว่ายังไงธุรกิจของคุณก็ปรับตัวเข้าหาเดลิเวอรีลำบากกว่าเจ้าอื่น และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นคุณจะกลับมาเปิดหน้าร้านแน่นอน
นั่นหมายความว่า คุณกำลังก้าวเข้าสู่ 30% ของความไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทุกแพลตฟอร์มเดลิเวอรีแล้ว
แต่เพียงเท่านี้ ยังคงตอบคำถามของเราได้ไม่ทั้งหมด เรายังเหลืออีก 3 แกนสำคัญที่ต้องพิจารณากันต่อไป
2. “ที่ตั้ง” หัวใจสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะมีหน้าร้านหรือไม่ก็ตาม

หลายคนคงได้ยินมาว่า ยุคนี้ที่ตั้งของร้านอาหารไม่จำเป็นแล้ว เพราะยังไงก็มีเดลิเวอรี แต่รู้ไหมว่ายิ่งถ้าธุรกิจของคุณอยู่ไกลหรือออกจากวงรัศมีการจัดส่งเดลิเวอรี ภาระการแบ่งรับค่าส่งยิ่งสูงขึ้น
ดังนั้น หากคุณเลือกที่ตั้งที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องติดถนนใหญ่หรือมีที่จอดรถบริการลูกค้า เพียงแต่คุณอยู่ในวงรัศมีของการจัดส่งเดลิเวอรีที่ครอบคลุมสัก 1-2 แพลตฟอร์ม นี่ก็เป็นอีก 10% ที่คุณไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทุกแพลตฟอร์มเดลิเวอรี
3. ต้นทุนทั้งหมด หักลบกำไร และค่าบริการ GP ยังคุ้มอยู่ไหม?

ประเด็นนี้ไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้ เพราะเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกพูดถึงเสมอมาจริง ๆ กับค่า GP ที่ร้านอาหารต้องเสียให้กับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี
ส่วนนี้เองที่เราต้องเริ่มเตรียมกระดาษคำนวณกันอย่างจริงจัง การจะตอบคำถามว่าควรเข้าร่วมหลายแพลตฟอร์มเดลิเวอรีไหม มาตั้งต้นกันแบบนี้
- ต้นทุนคงที่, ต้นทุนแปรผัน และต้นทุนแฝงร้าน อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่
- ของเสีย (Waste) ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่
- การตั้งราคาขายสมเหตุสมผลกับต้นทุนที่เสียไปไหม และยังคงเหลือเป็นกำไรเท่าไหร่
- ส่วนต่างยังเหลือพอค่าการทำการตลาดหรือไม่
หากพิจารณาแล้วว่าเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ร้านต้องพิจารณาต่อแล้วว่า เข้าร่วมแพลตฟอร์มไหนจะตอบโจทย์กับธุรกิจตัวเองมากที่สุด เพราะส่วนต่างที่เหลือร้านต้องจ่ายค่า GP ซึ่งคิดเป็นต่อออเดอร์อีกหนึ่งส่วน
เกณฑ์ข้อนี้สำคัญที่เรียกได้ว่าอาจแตะถึง 40-50% แกนสำคัญในการพิจารณาการเข้าร่วมแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเลยทีเดียว
4. เก็บข้อมูลการใช้บริการลูกค้า

เข้าสู่เกณฑ์สุดท้าย “เก็บข้อมูลการใช้บริการลูกค้า” ส่วนนี้อาจคิดเป็น 5-10% ที่จำเป็นแต่ไม่เร่งด่วน ลองใช้เวลาบางส่วนสำรวจตลาดดูว่า ลูกค้าชอบใช้แพลตฟอร์มไหนมากที่สุด กรณีที่ลูกค้าชอบเจ้าที่ค่า GP สูง และเรายังไม่ผ่านเกณฑ์ 3 ข้อในข้างต้น เราอาจต้องเลี่ยงเจ้านั้น ๆ ไปก่อน
แต่หากเราสู้ไว้และเราเองก็รอดจาก 3 เกณฑ์ข้างต้นมาแล้ว กำไรยังเหลือมากกว่าระยะแรกที่เข้าร่วมเดลิเวอรี ให้ร้านพิจารณาเกณฑ์ข้อ 4 เพิ่มได้เลย เพราะเป็นส่วนเสริมให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการเรามากยิ่งขึ้น
และแม้ว่าการเข้าร่วมเดลิเวอรีจะต้องมีต้นทุนที่ร้านต้องเสีย แต่ในทางกลับกันหากร้านเข้าสู่จุดที่คล่องตัว บริหารจัดการร้านได้ดีขึ้น การเข้าร่วมเดลิเวอรีหลายเจ้าก็นับเป็นการเปิดช่องทางการขายที่มากขึ้นนั่นเอง

FoodStory POS
ร้านอาหารที่ดี ต้องมีระบบที่ดีไปพร้อมกัน
ทดลองใช้ระบบฟรี: คลิกที่นี่เลย!
โทร: 065-513-7744